กฎหมายพาณิชย์3 การประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ตั๋วเงิน



...............วิชานี้เป็นวิชาที่ผมสอบตก และได้สอบซ่อมเลยนะครับนี่ ( อายจัง อิอิ ) นั่นก็แปลว่ามันไม่ธรรมดาน่ะสิครับ อย่าได้ประมาทวิชานี้เลยทีเดียวเชียว ไอ้เจ้าพาณิชย์3 นี้เป็นชุดวิชาที่รวม 4 เรื่องหลักๆไว้ด้วยกันคือ
  1. สัญญาค้ำประกัน ( ก็คือการประกันด้วยบุคคล )
  2. สัญญาจำนอง ( คือการประกันด้วยทรัพย์ )
  3. สัญญาจำนำ ( นี่ก็ประกันด้วยทรัพย์ )
  4. ตั๋วเงิน ( อันนี้เข้าใจค่อนข้างยากทั้งสามแบบ แล้วยังมีผู้ทรง ผู้สลักหลัง งงๆทั้งนั้น )
แต่ตอนที่ผมสอบหน่วยเน้นที่จะออกอัตนัยจะเป็น หน่วยที่ 1 - 5 , 8 - 13 นั่นไงครับเน้นเยอะจัดก็เลยตก อิอิ
ซึ่งแบ่งเป็นอัตนัย 3 ข้อคือ
  1. เรื่องสัญญาค้ำประกัน ( หน่วยที่ 1 และ 2 )
  2. เรื่องสัญญาจำนอง ( หน่วยที่ 3 , 4 และ 5 )
  3. เรื่องตั๋วเงินล้วนๆ ( หน่วยที่ 8 , 9 , 10 , 11, 12 และ 13 )
ก็ได้พร่ำพรรณามาตั้งนานนมแล้วเรามาเริ่มรู้จักวิชานี้กันเลยดีกว่าครับ





วิชากฎหมายพาณิชย์3 ( 41323 )

เรื่องที่ 1 สัญญาค้ำประกัน

............ในยุคสมัยที่บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ( ทางจิตใจอาจถอยหลัง ) ผู้คนต่างต้องการสิ่งมาเติมเต็มชีวิตของตนให้สะดวกสบาย และคิดว่าจะเพิ่มความสุขให้ตัวเองได้ สิ่งที่เป็นเครื่องมือที่ว่านี้ก็คือเงิน นั่นก็หนีไม่พ้นการกู้ยืมเงิน ถ้าจะไปกู้มาเฉยๆโดยไม่มีหลักประกันให้เจ้าหนี้มั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ ( พร้อมดอกเบี้ย ) คืนเจ้าหนี้คงไม่ให้ยืม จึงต้องมีหลักประกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหนี้ ซึ่งในที่นี้คือเอาบุคคลมาเป็นประกันหนี้จึงเกิดการค้ำประกันขึ้น เอาล่ะครับเรามาเรียนรู้เกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันกันเลยครับ...


  • สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันหนี้ด้วยบุคคล ( บุคคลที่ว่านี้ก็คือ.....บุคคลภายนอกด้วยนะครับ )
  • สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์ ส่วนสัญญาประธานคือสัญญาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยความสมบูรณ์ของสัญญาประธานด้วย
  • สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาระหว่างบุคคลภายนอก กับเจ้าหนี้ เป็นสัญญาที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ก็ได้
  • สัญญาค้ำประกันต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ( ถ้าไม่มีฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้นะครับ)
  • หลักฐานการค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่จำเป็นต้องทำต่อเจ้าหนี้โดยตรง ทำกับลูกหนี้หรือบุคคลอื่นก็ได้ เพียงแต่ระบุข้อความแสดงว่าตนค้ำประกันหนี้นั้น และมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันด้วยก็ได้
  • หนี้ในอนาคต หรือหนี้ที่มีเงื่อนไขก็ค้ำประกันได้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้ในกิจการที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นในอนาคตนั่นเอง

หนี้ประธานที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร
  • ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย
  • ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ไม่ผิดแบบ
  • ไม่แสดงเจตนาวิปริต
  • กรณีอื่นๆตามเอกเทศสัญญา เช่น สัญญายืมจะสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์ที่ยืม เป็นต้น

ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
  • ผู้ค้ำประกันอาจจะจำกัด หรือไม่จำกัดความรับผิดของตนไว้ก็ได้
  • ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้นั้น
  • หนี้รายเดียวกันอาจมีผู้ค้ำประกันหลายคนก็ได้ โดยผู้ค้ำประกันเหล่านั้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้อย่างลูกหนี้ร่วม ถึงแม้เข้าค้ำประกันคนละเวลาก็ตาม
  • เจ้าหนี้ฟ้องบังคับเอากับผู้ค้ำประกันหากยังไม่เพียงพอ เหลือเท่าไรลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่เหลือ


  • ไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันจำกัด หรือไม่จำกัดความรับผิดผู้ค้ำยังต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งลูกหนี้ต้องให้แก่เจ้าหนี้ด้วย เว้นแต่ เจ้าหนี้จะฟ้องคดีโดยมิได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำรพหนี้ก่อน

ค่าฤชาธรรมเนียม
  • ค่าธรรมเนียมศาล
  • ค่าป่วยการพยาน
  • ค่าทนายความ
  • ค่าธรรมเนียมในการส่งเอกสาร และบังคับคดี และค่าธรรมเนียมอื่นๆตามกฎหมาย

ผลและความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาค้ำประกัน

1.
ผลของสัญญาค้ำประกันก่อนการชำระหนี้
  • ลูกหนี้ผิดนัดเมื่อใดเจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกันได้แต่นั้น ( ปพพ.มาตรา 686 )
  • ลูกหนี้ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา ( ปพพ.มาตรา 687 ) (คือผู้ค้ำประกันไม่ต้องชำระหนี้ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ถึงแม้ลูกหนี้ไม่อาจถือเอาประโยชน์นั้น)


2. สิทธิเบี่ยงบ่ายของผู้ค้ำประกัน
  • ผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้บังคับเอากับลูกหนี้ก่อนได้ ( ปพพ.มาตรา 688 )
  • ผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้บังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนได้ ( ปพพ.มาตรา 689 ) ( ลูกหนี้ชำระได้ และเป็นการไม่ยากด้วยนะครับ )
  • ผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้บังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ยึดไว้เป็นประกันก่อนได้ ( ปพพ.มาตรา 690 )
เว้นแต่ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ( ปพพ.มาตรา 691 )
  • อายุความสะดุดหยุดลงหากเป็นโทษแก่ลูกหนี้ ก็ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ( ปพพ.มาตรา 692 )

3. ผลของสัญญาค้ำประกันหลังการชำระหนี้
  • สิทธิของผู้ค้ำประกันที่จะยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้ ( ปพพ.มาตรา 694 )

4. สิทธิในการไล่เบี้ย และรับช่วงสิทธิ
  • ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้
  • ผู้ค้ำประกันมีสิทธิรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้
  • ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้ค้ำประกันคนอื่นๆ ในหนี้รายเดียวกัน
  • เจ้าหนี้ทำให้ผู้ค้ำประกันไม่สามารถเข้ารับช่วงสิทธิได้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้น
เว้นแต่ ( การเสียสิทธิไล่เบี้ย )
  • ผู้ค้ำประกันไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ ( เฉพาะข้อที่ไม่ได้ยก ปพพ.มาตรา 695 )
  • ผู้ค้ำประกันชำระหนี้โดยไม่ได้บอกลูกหนี้ และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ซ้ำ ( ปพพ.มาตรา 696 ) ( ผู้ค้ำฟ้องเจ้าหนี้ได้ในเรื่องลาภมิควรได้ )
  • มีข้อตกลงรับผิดเกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้

5. การระงับสิ้นไปแห่งสัญญาค้ำประกัน
  • หนี้ประธานระงับสิ้นไป ( ปพพ.มาตรา 698 ) ( ชำระหนี้ครบ,ปลดหนี้,หักลบกลบหนี้,แปลงหนี้ใหม่,หนี้เกลื่อนกลืนกัน )
  • ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาค้ำประกัน ( ปพพ.มาตรา 699 )
  • เจ้าหนี้ผ่อนระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ( ปพพ.มาตรา 700 )
  • เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน ( ปพพ.มาตรา 701 )

เหตุอื่นๆที่ทำให้สัญญาค้ำประกันระงับสิ้นไป
  • เมื่อหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ และผู้ค้ำประกันระงับ
  • เมื่ผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด
  • เมื่อสัญญาค้ำประกันขาดอายุความ
  • เมื่อผู้ค้ำประกันตาย ( กรณีที่สัญญาค้ำประกันเกิดก่อนสัญญาประธาน แต่ถ้าเกิดหลังสัญญาประธานก็สืบทอดถึงทายาท ตาม ปพพ.มาตรา 1600 )

ตัวอย่างคำถามเรื่องสัญญาค้ำประกัน

1. กุ้งกู้เงินปู จำนวน 30,000 บาท เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2546 โดยมี ปลาเป็นผู้ค้ำประกัน มีกำหนดชำระหนี้เมื่อครบ 1 ปี เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ กุ้งเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ปูเองก็ไม่ได้ทวงถามให้ชำระหนี้แต่อย่างใด จนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2548 ปูได้ฟ้องให้ปลาชำระหนี้ ปลาอ้างเรื่องที่ปูยอมผ่อนระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่กุ้ง โดยปลามิได้ยินยอมด้วย ปลาย่อมหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดในการชำระหนี้ ดังนั้นข้อต่อสู้ของ ปลา ที่มีต่อ ปู ฟังขึ้นหรือไม่เพราะเหตุใด

แนวตอบ.....

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักกฎหมายไว้ว่า...

มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด
แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

กรณีตามปัญหา สัญญาเงินกู้ระหว่างกุ้งกับปู ที่มีปลาเป็นผู้ค้ำประกันนั้น เป็นสัญญาที่กำหนดเวลาชำระหนีมีกำหนดแน่นอน ตามปฏิทิน โดยที่ปูเจ้าหนี้ไม่ได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้กุ้งแต่ประการใดเพียงแต่ยังไม่ ฟ้องร้องบังคับชำระนี้เท่านั้น ฉะนั้นปลาหาหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ผิด ประเด็นข้อกฎหมายตามปัญหาว่าเป็นการผ่อนเวลาให้กับลูกหนี้หรือไม่ ต้อง ทำความเข้าใจว่าการผ่อนเวลาก็คือการยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป ในระหว่างการผ่อนเวลาเจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีระหว่างผ่อนเวลาไม่ได้นั้น เอง การผ่อนชำระหนี้ก็เป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ โดยผู้ค้ำไม่ตกลงด้วยผู้ค้ำหลุดพ้นจากความรับผิด แต่ถ้าตกลงด้วยตามวรรค 2 ผู้ค้ำก็ไม่พ้นผิด

ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ข้อต่อสู้ของปลาผู้ค้ำประกัน ที่มีต่อปูเจ้าหนี้ จึงฟังไม่ขึ้น ปลายังคงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว




2. ชาติกู้เงินศักดิ์ 100,000 บาท โดยเอกทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาชาติได้ขอให้เชิญเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายนี้อีกฉบับหนึ่ง เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ชาติไม่ชำระหนี้ให้ศักดิ์ ศักดิ์จึงมาทวงถามจากเอก เอกเกรงจะเสียชื่อเสียงจึงชำระเงินให้ทั้งหมด แล้วไปเรียกร้องเอาจากชาติ แต่ชาติไม่มีเงินชำระให้ ดังนี้เอกมีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากเชิญได้หรือไม่ เพียงใด

แนวตอบ.....

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักกฎหมายไว้ว่า...
มาตรา 682 วรรคสอง
ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้าค้ำประกันรวมกัน
มาตรา 693 อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่ง ลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์ในหนี้รายนั้นด้วย

กรณีตามปัญหา จากบทบัญญัติข้างต้น เมื่อเอกได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่ศักดิ์เจ้าหนี้แล้ว เอกย่อมเข้ารับช่วงสิทธิ์ของศักดิ์ บรรดามีเหนือชาติลูกหนี้ และมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากชาติได้เต็มจำนวน แต่เมื่อปรากฏว่าชาติไม่มีเงินชำระให้ เอกก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับเชิญซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนได้ แม้จะมิได้ทำสัญญาค้ำประกันรวมกันกับเชิญก็ตาม แต่ทั้งเอกและเชิญต่างก็มีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันต่อศักดิ์เจ้าหนี้ เมื่อเอกชำระหนี้ให้ศักดิ์แล้ว เอกย่อมรับช่วงสิทธิจากศักดิ์มาไล่เบี้ยเอาจากเชิญได้ แต่มีสิทธิไล่เบี้ยได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ได้ชำระไปเท่านั้น

ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เอกมีสิทธิเรียกร้องเงินจากเชิญจำนวน 50,000 บาท

-------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 2 สัญญาจำนอง


  • สัญญาจำนองเป็นสัญญาซึ่่งผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง คือผู้รับจำนอง เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้จำนอง
  • ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ หรือก่อนผู้รับจำนองภายหลัง
  • สัญญาจำนองต้องทำตามแบบโดยทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ

  • ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองนั้น
  • สิ่งที่สามารถนำมาจำนองได้คืออสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินที่จำนองได้

เดี๋ยวมาต่อนะครับ........


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กฎหมายวิธีสบัญญัติ2 วิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายล้มละลาย

กฎหมายวิธีสบัญญัติ3 วิธีพิจารณาความอาญา