จำนำก็สำคัญ


สัญญาจำนำ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบ สังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้ครอบครองเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อประกันการชำระหนี้ ทรัพย์สินที่จำนำได้คือ ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ ได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ช้าง ม้า โค กระบือ และเครื่องทองรูปพรรณ สร้อย แหวน เพชร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น นาย ก กู้เงินนาย ข จำนวน 50,000 บาท เอาแหวนเพชรหนึ่งวงมอบให้นาย ข ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เรียกว่า นาย ก เป็นผู้จำนำ และนาย ข เป็นผู้รับจำนำ ผู้จำนำอาจเป็นบุคคลภายนอก เช่น ถ้าแทนที่นาย ก จะเป็นผู้ส่งมอบแหวนเพชรให้เจ้าหนี้ กลับเป็นนาย ค ก็เรียกว่า เป็นผู้จำนำ ผู้จำนำไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้เสมอไป

ผู้รับจำนำต้องระวัง

ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ คือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำนำ ใครอื่นจะเอาทรัพย์ของเขาไปจำนำหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นถ้ายักยอก ยืมหรือ ลักทรัพย์ของเขามาหรือได้ทรัพย์ของเขามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประการ อื่นแล้วเอาไปจำนำ เจ้าของอันแท้จริงก็ย่อมมีอำนาจติดตามเอาคืนได้โดยไม่ ต้องเสียค่าไถ่ เพราะฉะนั้นผู้รับจำนำต้องระวังควรรับจำนำจากบุคคลที่รู้จัก และเป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้น มิฉะนั้นอาจจะเสียเงินเปล่า ๆ

สิทธิหน้าที่ผู้รับจำนำ

เมื่อรับจำนำแล้วทรัพย์สินที่จำนำก็อยู่ในความครอบครองของผู้รับจำนำตลอดไป จนกว่าผู้จำนำจะรับคืนไปโดยการชำระหนี้ ในระหว่างนั้น ผู้รับจำนำมีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำนำบางประการ

1. ต้องเก็บรักษาและสงวนทรัพย์ที่จำนำให้ปลอดภัย ไม่ให้สูญหาย หรือเสียหาย เช่น รับจำนำแหวนเพชรก็ต้องเก็บในที่มั่นคง ถ้าประมาท เลินเล่อวางไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง คนร้ายลักไปอาจจะต้องรับผิดได้

2. ไม่เอาทรัพย์ที่จำนำออกใช้เอง หรือให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือ เก็บรักษา มิฉะนั้นถ้าเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นก็ต้องรับผิดชอบ เช่น เอา แหวนที่จำนำสวมใส่ไป เที่ยวถูกคนร้ายจี้เอาไปก็ต้องใช้ราคาให้เขา

3. ทรัพย์สินจำนำบางอย่าง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เช่น จำนำสุนัขพันธุ์ดี โค กระบือหรือม้าแข่ง อาจจะต้องเสียค่าหญ้า อาหาร และยารักษาโรค ผู้จำนำต้องชดใช้แก่ผู้รับจำนำ มิฉะนั้นผู้รับจำนำก็มีสิทธิ ยึดหน่วงทรัพย์ที่จำนำไว้ก่อน ไม่ยอมคืนให้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน

การบังคับจำนำ

เมื่อหนี้ถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้รับจำนำก็มีสิทธิบังคับจำนำได้ คือ

1. เอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาด คือกระทำได้เองไม่ต้อง ขออำนาจเจ้าพนักงาน ซึ่งตามธรรมดาก็ให้บุคคลซึ่งมีอาชีพทางดำเนิน ธุรกิจขายทอดตลาดเป็นผู้ขาย แต่ก่อนที่จะขายทอดตลาดผู้รับจำนำจะต้อง บอกกล่าวเป็นหนังสือ ไปยังลูกหนี้ก่อนให้ชำระหนี้และหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ดอกเบี้ย ค่ารักษาทรัพย์ที่จำนำ เป็นต้น ภายในเวลาอันสมควร

2. ถ้าผู้รับจำนำจะไม่บังคับตามวิธีที่ 1 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เพื่อ ไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำคืนไป เจ้าหนี้ผู้รับจำนำจะยื่นฟ้องต่อศาล ให้ขายทอด ตลาดทรัพย์ที่จำนำก็ย่อมทำได้ ไม่มีอะไรห้าม

ข้อสังเกต

(1) เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดต้องนำมาชำระหนี้พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้ามีเงินเหลือก็คืนแก่ผู้จำนำไป เพราะเป็น เจ้าของทรัพย์ ถ้ามีเจ้าหนี้ หลายคน ผู้รับจำนำก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้อื่น

(2) เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้วคู่สัญญาจะตกลงกันให้ทรัพย์สินที่ จำนำตกเป็นของผู้รับจำนำก็ย่อมทำได้ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ด้วยของอื่น แต่จะตกลงกันเช่นนี้ในขณะทำสัญญาจำนำ หรือก่อนหนี้ถึงกำหนดหาได้ไม่

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กฎหมายวิธีสบัญญัติ2 วิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายล้มละลาย

กฎหมายพาณิชย์3 การประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ตั๋วเงิน

เขียนตอบวิชากฎหมายให้ได้คะแนน