ฟ้องซ้ำ (วิฯแพ่ง)


ฟ้องซ้ำ ( ป.วิแพ่ง มาตรา 148 )

หลัก

1. คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
คู่ความจะนำคดีเรื่องที่เคยพิพาทกันมาในคดีก่อนมาฟ้องกันใหม่อีกไม่ได้ (เป็นฟ้องซ้ำ)
1.1.คำว่า ถึงที่สุด คือ
1.1.1.เมื่อได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นที่สุด
1.1.2.เมื่อพ้นระยะอุทธรณ์หรือฏีกา หรือขอให้พิจารณาคดีใหม่
คำพิพากษาที่ถึงที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่าคดีใดยื่นฟ้องก่อนหลัง เพราะหลักของการฟ้องซ้ำ มิได้ถือเวลาที่ยื่นฟ้องเป็นสำคัญ แต่ถือคดีถึงที่สุดเมื่อใด

2. ฟ้องซ้ำต้องเป็นคู่ความเดียวกันจึงจะต้องห้าม
2.1.คู่ความเดียวกัน แม้คดีก่อนเป็นโจทก์ แต่คดีใหม่กลับมาเป็นจำเลยก็ถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน
2.2.คู่ความเดียวกัน รวมถึงผู้สืบสิทธิจากคู่ความเดิม เช่นสามีภริยา เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ผู้รับโอนทรัพย์
2.3.แม้เป็นคู่ความเดิมแต่เข้ามาคนละฐานะ ก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าคู่ความเดิม เช่น คดีก่อนฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว คดีใหม่ฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เช่นนี้ไม่ถือเป็นคู่ความเดียวกัน

3. ได้นำคดีมาฟ้องร้องกันใหม่ในประเด็นเดียวกัน ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน
3.1.เหตุอย่างเดียวกัน หมายถึง คำพิพากษา หรือคำสั่งที่ถึงที่สุดนั้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องร้องกันโดยวินิจฉัยอย่างเดียวกับคดีก่อนที่ศาลได้วินิจฉัยมาและต้องเป็นส่วนของเนื้อหาด้วย (หากไม่ใช่ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ )
3.2.กรณีศาลได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี แต่ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ เพราะศาลมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีนั้นเอง ดังนั้นจึงนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ เช่นดังนี้.-
3.2.1.ศาลจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง ( ฏ.1740/2520 )
3.2.2.ยกฟ้องเพราะเหตุฟ้องคดีเคลือบคลุม ( ฏ.155/2523 )
3.2.3.ยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์บกพร่อง ( ฏ.2522/2523 )
3.2.4.ยกฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ( ฏ.666/2530 )
3.2.5.กรณีโจทก์ถอนฟ้อง ( ฏ.268/2489 )

4. ข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ มีดังนี้.-
4.1.การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
- กรณีบังคับคดีไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีก
- กรณีโต้แย้งว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4.2.คำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราว ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามพฤติการณ์
- การกำหนดวิธีชั่วคราว คือกำหนดการบังคับคดีเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดู
4.3.ศาลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ
- ได้แก่ ศาลยกฟ้องเพราะผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่สามารถจะแบ่งทรัพย์กันๆได้ในชั้นนี้ ศาลชอบที่จะอนุญาตไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมว่าไม่ตัดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่
- การพิพากษาให้นำคดีมาฟ้องใหม่ได้ตาม ม.148(3)นี้ ไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
- การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำคดีมายื่นฟ้องใหม่ ตาม ม.148(3) มิใช่การย่นหรือขยายระยะเวลา
- คดีเดิมมีการฟ้องร้องกันและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาก็ถือว่าได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นแล้ว เมื่อนำคดีมาฟ้องใหม่อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำ แต่เนื่องจากคดีนี้ปรากฏว่าไม่สามารถปฎิบัติตามคำพิพากษาตามยอมได้ ดังนั้นคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิมจึงตกไป เท่ากับยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฏ.124/2546)
- คดีแรกศาลได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ดังนั้นผลของคำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงไม่มีสิทธิจะยึดรถยนต์ไว้ คดีหลังที่โจทก์นำมาฟ้องบังคับให้คืนรถยนต์เป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของตนเอง ซึ่งเกิดจากคำพิพากษาคดีก่อน คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ( ฏ.1939/2545 , 2658/2545 )
- ความเสียหายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีหลังนี้เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว คำขอบังคับจำเลยทั้งสองตามฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงต่างกับคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีก่อน และมิใช่ประเด็นที่ศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ดังนั้นฟ้องโจทก์ในคดีที่สองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก ( ฏ.456/2545 , 1584/2545 , 457/2545 )

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กฎหมายวิธีสบัญญัติ2 วิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายล้มละลาย

กฎหมายพาณิชย์3 การประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ตั๋วเงิน

เขียนตอบวิชากฎหมายให้ได้คะแนน