ฟ้องซ้อน (วิฯแพ่ง)

ฟ้องซ้อน เป็นข้อห้ามในการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งที่สำคัญ เพราะหากคดีใดศาลวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้อนแล้ว ศาลมีอำนาจยกฟ้องได้ตั้งแต่ชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 172 วรรค 3 ประกอบมาตรา 18 วรรค 3 ถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 55 แม้คู่ความไม่ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

หลักเรื่องฟ้องซ้อน บัญญัติไว้ในมาตรา 173 วรรค 2(1)

มาตรา 173 เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่ง สำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับ แต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ ส่งหมายนั้น
นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และ ผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น และ
(2) ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้น เช่นการเปลี่ยนแปลง ภูมิลำเนาของจำเลยการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้หาตัดอำนาจศาลที่ รับฟ้องคดีไว้ในอันที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไม่

สรุปหลักเรื่องฟ้องซ้อน

1.ห้ามโจทก์ หมายถึงโจทก์ผู้ยื่นคำฟ้อง จำเลยในฐานะฟ้องแย้ง ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(1),(2) ซึ่งยื่นคำฟ้อง บุคคลภายนอกผู้ร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288

สิ่งที่ห้ามคือ "คำฟ้อง" ซึ่งมีความหมายตามมาตรา 1(3) จึงหมายถึงคำฟ้องที่เป็นคดีมีข้อพิพาท คำร้องขอ ฟ้องแย้ง คำร้องสอดที่อยู่ในฐานะคำฟ้อง คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ (มาตรา 199 จัตวา วรรค 2)

โจทก์ในคดีก่อนและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นคนเดียวกัน ทั้งนี้หากโจทก์ในคดีหลังเป็นผู้สืบสิทธิจากโจทก์ในคดีก่อน แม้จะไม่ใช่โจทก์คนเดียวกัน ก็ถือว่าอยู่ในฐานะโจทก์เหมือนกัน ต้องห้ามเป็นฟ้องซ้อนได้

หลักเรื่องผู้สืบสิทธิของโจทก์ อาจเป็นการสืบสิทธิโดยนิติเหตุ เช่น ความตายและมีการรับมรดก การสืบสิทธิโดยนิติกรรม เช่น ก.โอนขายทรัพย์ให้แก่ ข. เช่นนี้ ข. เป็นผู้สืบสิทธิของ ก.

2.คดีก่อนต้องอยู่ระหว่างการพิจารณา แสดงว่าฟ้องซ้อนห้ามคดีหลัง ไม่ได้ห้ามคดีก่อน

คดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น นับตั้งแต่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้อง จนกระทั่งถึงศาลมีคำพิพากษา ไม่ได้ดูว่าศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งรับฟ้องก่อนหรือไม่

ฟ้องซ้อนในชั้นบังคับคดีสามารถมีได้ หากกระบวนการในชั้นบังคับคดีต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเสนอคำฟ้องขึ้นมาใหม่ เช่น ร้องสอดในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 57(1) ร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288

3.ห้ามฟ้องคดีเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น คำฟ้องต้องบรรยายถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และคำขอบังคับ ตามมาตรา 172 วรรค 2

เรื่องเดียวกัน หมายถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เหมือนกัน แม้ว่าคำขอบังคับต่างกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องห้าม เพาะเป็นฟ้องซ้อน เช่น โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย 50,000 บาทในคดีก่อน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ในคดีหลังฟ้องเรียกดอกเบี้ยรายเดียวกันร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนี้ สภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เหมือนกัน แม้ว่าคำขอบังคับต่างกัน ก็เป็นฟ้องซ้อน

ห้ามฟ้องคดีหลังต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น เป็นข้อแตกต่างจากเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้าตามมาตรา 144 เนื่องจากตัวบทห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น

การวินิจฉัย "เรื่องเดียวกัน" เป็นประเด็นที่ยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากในหลายๆ กรณีต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายสารบัญญัติประกอบ เช่น การที่ผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกทรัพย์จากทายาท ก. คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ทายาท ข. มาฟ้องเรียกทรัพย์ชิ้นเดียวกันจากทายาท ก. ดังนี้ฟ้องในคดีหลังของทายาท ข. ต้องห้าม เป็นฟ้องซ้อน เนื่องจากการที่ผู้จัดการมรดกเข้าจัดการทรัพย์สินและฟ้องคดีแทน ถือว่าเป็นการฟ้องแทนทายาทอื่นตาม ปพพ. มาตรา 1720

หรือกรณีที่เจ้าของรวม ก. ฟ้องเรียกทรัพย์สินจากบุคคลภายนอก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา เจ้าของรวม ข. ฟ้องเรียกทรัพย์สินชิ้นเดียวกันจากบุคคลภายนอก ดังนี้ฟ้องในคดีหลังของเจ้าของรวม ข. ต้องห้ามเป็นฟ้องซ้อน เนื่องจากการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีถือเป็นการใช้แทนเจ้าของรวมคนอื่นๆ ด้วยตาม ปพพ. มาตรา 1359

ข้อสังเกต หากโจทก์ฟ้องจำเลย จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การตามมาตรา 177 วรรค 3 แม้จะเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน เนื่องจากโจทก์ในคดีก่อนและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นคนเดียวกัน แต่กรณีนี้โจทก์ในคดีหลังคือจำเลยในคดีก่อน กฎหมายจึงอนุญาตให้จำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

กฎหมายวิธีสบัญญัติ2 วิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายล้มละลาย

กฎหมายวิธีสบัญญัติ3 วิธีพิจารณาความอาญา

กฎหมายพาณิชย์3 การประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ตั๋วเงิน